อาการปวดหัวเรื้อรัง เป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน โดยมักมีอาการปวดที่ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นการปวดหัวที่เกิดจาก ความเครียด, ไมเกรน, การกินยาแก้ปวดเกินขนาด, การใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากโรคต่างๆ ภายในร่างกาย ทำให้เกิดเป็นอาการปวดหัวเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การปวดหัวเรื้อรังอาจไม่ใช่การปวดหัวธรรมดา แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย

อาการปวดหัวเรื้อรัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.ปวดหัวเรื้อรังแบบเป็นอันตราย
โดยอาการปวดหัวดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง ฯลฯ ซึ่งต้องได้รับการตรวจรักษาโดยด่วน

2.ปวดเรื้อรังแบบไม่เป็นอันตราย
แต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน คืออาการปวดหัวที่เกิดขึ้น จากความเครียด การทำงาน อาการตึงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ซึ่งหลายคนมักคิดว่าแค่อาการปวดหัวซื้อยามากินก็หาย หรือเป็นแค่อาการปวดตึงกล้ามเนื้อ แค่ไปนวดเดี๋ยวอาการก็ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วการที่เรารักษาเองอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ใช้ยาเกินขนาดจนส่งผลต่อตับและไต หรือกระทั่งการนวดคลายกล้ามเนื้อที่รุนแรง จนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเลือดบาดเจ็บกลายเป็นปัญหาปวดหัวเรื้อรัง

แม้ว่าการปวดหัวอาจไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง แต่หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง หรือมีอาการติดเชื้อในระบบประสาทได้

  1. ปวดหัวแบบรุนแรงและมักเกิดขึ้นทันที
  2. ปวดหัวและรู้สึกว่ามีไข้ มีอาการคอแข็งร่วมด้วย
  3. รู้สึกว่าแขนขาอ่อนแรง มีความผิดปกติเกิดขึ้น
  4. มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กินยาแล้วไม่ทุเลา

ป้องกันการปวดหัวได้ดีที่สุด คือการ “ดูแลตัวเอง” หมั่นสังเกตตัวเองว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เพราะสิ่งกระตุ้นของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป เมื่อรู้แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น และหากพบว่าอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติไปจากการปวดหัวทั่วไป ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา อย่าปล่อยนานจนทุกอย่างสายเกินจะแก้ไข

 

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  hakkarepublic.com