สุนัขขี้กลัว มีพฤติกรรมแบบไหนและสามารถแก้ไขได้อย่างไร

สุนัขขี้กลัว เป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว มักพบในสุนัขที่มีนิสัยติดคน หรือติดเจ้าของมากๆ และอาจได้เคยถูกเอาใจตั้งแต่มันยังเป็นเด็กเล็กๆ  แต่กรณีที่กลัวจนชัก ช็อก อันนี้น่ามีปัญหาระบบประสาท หรือหากมีปัญหาลมชัก อาจเกิดจากคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมองมันรวนทำให้ตื่นเต้น ตกใจง่าย จนเกิดการชักตามมา ดังนั้นขอแนะนำให้พามาพบหมอ เพื่อตรวจระบบประสาทและประเมินอาการ

สุนัขขี้กลัว ปัญหาที่บ่งบอกสภาพจิตใจ

บางทีที่สุนัขมีอาการก้าวร้าว ชอบขู่หรือเห่าใส่คนอื่น ซึ่งเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งมันแปลว่าสุนัขกำลังอยู่ในความหวาดกลัว เกิดภาวะเครียดหรือกังวลกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ จนถึงขั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นสุนัขของตัวเองรู้สึกกลัวหรือกังวล แต่ต้องทำอย่างไรหากมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าเขากำลังกลัว

เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่มีผลรุนแรงต่อจิตใจหรือชีวิตแล้วเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำในเวลาต่อมา สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นความกลัวที่ฝังลึกลงไปในใจ เพราะความกลัวมักจะเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งสาเหตุความกลัวของสุนัขก็เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น ไม่เคยออกจากบริเวณบ้านไปพบปะคนหรือหมาแปลกหน้า หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้สุนัขรู้สึกไม่ปลอดภัย กังวล และหวาดกลัวจนเกิดความเครียด

ยิ่งถ้าสุนัขของเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับคนหรือสุนัขแปลกหน้า เคยโดยทำร้ายหรือทำให้เจ็บปวดมาก่อน ก็อาจทำให้พวกเขาเลือกที่จะปกป้องตัวเองด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวนั่นเอง การที่สุนัขมีภาวะหวาดกลัวนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจอยู่แล้ว แต่จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเจ้าของเมื่อจำเป็นต้องพาออกไปนอกบริเวณบ้าน เช่น ไปพบสัตวแพทย์ เป็นต้น

พฤติกรรมที่สุนัขแสดงออกเวลากลัว

พฤติกรรมการตกใจง่ายของสุนัข เช่น เวลามีคนเดินเข้ามาจะตกใจกลัวว่าคนจะเข้ามาทำร้าย สุนัขบางตัวเลยอาจจะกระโดดหนี ร้องเสียงดัง หรือไม่ก็กลัวจนฉี่แตก หากใครเคยมีประสบการณ์เลี้ยงสุนัขที่ขี้กลัวคงกังวลอยู่บ่อยๆ ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะให้ได้ผ่อนคลายความวิตกหรือความหวาดกลัวลง เพราะเรื่องขี้กลัวเป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว มักพบในสุนัขที่มีนิสัยติดเจ้าของและถูกเอาอกเอาใจตั้งแต่เด็ก แต่ก็มีบางกรณีที่สุนัขจะกลัวจนชัก ช็อค หรือแสดงอาการอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะสุนัขอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท อาจมีปัญหาลมชัก เกิดจากคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมองรวนเลยทำให้ตื่นเต้นหรือตกใจง่ายจนทำให้เกิดการชักตามมา ดังนั้นใครที่เลี้ยงสุนัขแล้วมีอาการดังกล่าว แนะนำให้พบสัตวแพทย์เพื่อตรวจระบบประสาทและประเมินอาการ เพราะสุนัขก็มีจิตใจเหมือนกับมนุษย์อย่างเรา สุขภาพทางด้านจิตใจของสุนัขก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่ควรละเลย

ในกรณีที่สุนัขตกใจเพราะเสียงดัง มักเกิดในสุนัขที่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคยกับเสียง เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงเครื่องยนต์ เสียงประทัด เสียงเครื่องบิน เสียงเพลง เสียงเด็กร้อง หรือเสียงอื่นๆ ถ้าได้ยินเสียงก็จะแสดงออกด้วยอาการกลัว ตกใจ หางตก ตัวสั่น รีบวิ่งหาที่หลบเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ยิ่งกระโดดไปมาหรือวิ่งไม่ยอมหยุด แปลว่ากำลังตื่นเต้นมาก ซึ่งการแสดงออกแบบนี้ไม่เป็นผลดีนัก เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้สุนัขบางตัวเกิดภาวะฉี่เล็ดมากขึ้น

ถ้าสุนัขไม่ได้ตกใจจากเสียง แต่ถูกแกล้งให้ตกใจกลัว เมื่อโตขึ้นเขาอาจจะเป็นสุนัขที่ขี้ระแวงได้ ยิ่งถ้าบ้านไหนมีเด็กเล็กต้องระวังเลย เพราะการที่เด็กชอบใช้มือทั้งสองข้างจับไปบนขนของสุนัขหรือขยำด้วยความรุนแรงก็จะทำให้สุนัขตกใจและวิ่งหนี ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น สังเกตได้เลยว่าเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ทีนี้เวลาเห็นเด็กเดินเข้ามาใกล้ก็จะรีบหลบหลังเจ้าของหรือแอบซุกตัวไม่ให้เด็กๆ เห็น เพราะเกิดความกลัวในการสัมผัสของเด็ก จึงเป็นสาเหตุให้สุนัขบางตัวไม่ชอบเด็กเล็กๆ ได้

ทั้งนี้ สุนัขที่ยังเล็กอยู่บางตัวก็อาจมีอาการตกใจเพียงเล็กน้อยได้ เช่น หางตก ใบหน้าตื่นๆ สักครู่ก็จะมีอาการปกติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของลูกสุนัข แต่ถ้าแสดงความหวาดกลัวจนตัวสั่นอย่างเห็นได้ชัดหรือหลบไปซุกอยู่ตามมุมกรง ไม่ยอมขยับตัว แสดงอาการขู่คำราม แสดงให้เห็นว่าลูกสุนัขตัวนั้นอาจจะมีความผิดปกติด้านจิตใจได้ แต่โดยปกติลูกสุนัขทุกตัวจะมีนิสัยร่าเริง การดูนิสัยของสุนัขว่าเป็นสุนัขขี้กลัว ขี้อาย หรือขี้เล่นนั้น อาจสามารถทดสอบด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การปรบมือ การสั่นพวงกุญแจ หรือดีดนิ้วเรียกให้เขามาหา แล้วสังเกตอาการตอบรับของสุนัขว่า มีอาการตกใจกลัว วิ่งหนี หรือเข้ามาหาเพื่อเล่นด้วย

สุนัขขี้กลัว

สุนัขขี้กลัว มีวิธีแก้ปัญหา

1. สร้างประสบการณ์ให้เกิดความคุ้นเคย

ฝึกให้ลูกสุนัขเดินในสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดที่สะอาด ให้เดินสวนกับคนแปลกหน้าและให้ได้ยินเสียงคนแปลกหน้าที่เขาไม่เคยรู้จักบ้าง ลองให้คนแปลกหน้าได้สัมผัสขนน้อง หรือให้สุนัขได้ยินเสียงรถยนต์และเสียงต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อสร้างความคุ้นเคย พยายามให้ได้ออกนอกบ้านบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน เมื่อได้ยินเสียงต่างๆ ก็จะทำให้สุนัขไม่เกิดความกลัวหรือตกใจ ทำให้เขาสามารถปรับตัวและเรียนรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้

2. นวดสัมผัสให้ผ่อนคลาย

เมื่อสุนัขมีอาการตกใจกลัว ควรผ่อนคลายให้เขาได้หายตกใจด้วยการลูบหัวหรือนวดไปตามลำตัวเบาๆ การสัมผัสตัวด้วยความเอ็นดูและทนุถนอมสามารถสร้างความอบอุ่นและเป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับสุนัขได้ เป็นการช่วยให้สุนัขรู้สึกผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลได้

3. กอด

การที่เจ้าของกอดเขาแน่นๆ ก็เหมือนเป็นการปลอบประโลมที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่สุนัขและช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย

4. ทักทายและพูดคุยด้วยความนุ่มนวล

ทักทายสุนัขด้วยการนั่งลงและใช้มือเกาหรือลูบที่บริเวณใต้คางของน้องก็จะทำให้เขารู้สึกสบายใจและคลายความวิตกกังวลได้ ลองลูบหัวพร้อมคุยเล่นกับเขา จะตอบรับและแสดงความรักกับเราด้วยการเลียใบหน้าหรือเลียมือ

5. พาออกกำลังกาย

วิธีธรรมชาติที่จะทำให้สุนัขได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่สะสมอยู่คือให้เขาได้วิ่งเล่นออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ เรื่องสถานที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรมีบริเวณให้ให้ได้วิ่งเล่น ไม่ควรกักขังเขาไว้ตลอดเวลา การฝึกสอนให้ได้ทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยทำให้น้องเข้าสังคมได้ดีด้วย และไม่กลายเป็นสุนัขขี้กลัว

10 อันดับ เสียงที่สุนัขกลัว

สุนัขที่กลัวเสียง เป็นสิ่งที่เจ้าของและคนทั่วไปในบ้าน พอได้ยินเข้าก็นึกถึงทันทีคือ “เสียงประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ในคืนวันงานลอยกระทง”  เพราะคุ้นตากับสุนัขที่วิ่งหนีหางจุกตูด หลบซุกซ่อนตัว กลัวตัวสั่น แต่มาระยะหลังบ้านเมืองเข้มงวดมิให้เล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟในวันลอยกระทง เหตุการณ์นี้ จึงรบกวนสุนัขน้อยลง แต่ยังคงมีอยู่ตามที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเสียงอื่นอีกที่มีการรวบรวมไว้จัดเป็น 10 อันดับได้ดังนี้

(1) ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เมื่อมีพายุ ฝนฟ้าคะนอง เป็นเสียงที่ไม่เพียงแต่สุนัขกลัวเท่านั้น เจ้าของเองก็เป็นไปด้วย

(2) ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ประทัด ฯลฯ นอกจากเสียงที่เกิดแล้วมันยังให้กลิ่นควันจำเพาะที่มาจากดินปืนอีกด้วย

(3) ปืน  เสียงปืนทั้งดังและแผดความถี่แหลมคม ทำให้มีความตกอกตกใจหนักขึ้นไปอีก

(4) เครื่องรถจักรยานยนต์ หรือเสียงมอเตอร์ไซค์ แค่เสียงท่อไอเสียปกติก็แย่พอแล้ว นี่ยิ่งไปเจอพวกแต่งทะลวงท่อเข้าให้ไปใหญ่

(5) เครื่องรถยนต์ มีหลากหลายและก็เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ที่มีการแต่งซิ่งต่างๆ นานา

(6) เครื่องดูดฝุ่น บ้านเรายุคนี้ส่วนใหญ่มีเครื่องดูดฝุ่นใช้กันแล้ว หมาไทยจึงมีของส่งเสียงให้กลัวเพิ่มมากอีก

(7) เครื่องบิน  ก็ต้องเป็นบ้านที่อยู่ใกล้สนามบิน เช่น สุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ฯลฯ รวมถึงเมื่อมีเครื่องบินเจ็ตทหาร เมื่อทำโซนิคบูม หรือบินผ่านกำแพงเสียง หูคนยังแทบดับ และสะดุ้งเหยง

(8) ลมพัด  เมื่อเกิดพายุ รวมไปถึงเสียงลู่ไหวของใบไม้ ต้นไม้ ที่ลมพัดผ่าน ฟังแล้วน่ากลัว (สำหรับหมา) ขนลุก (สำหรับคน)

(9) สัญญาณเตือนภัย แม้ไม่ได้ยินบ่อยนัก แต่เมื่อได้ยินละก็สมชื่อเลย เพราะประสงค์จะให้ตกใจเพื่อตื่นตัว (ทั้งคน ทั้งหมาละครับ)

(10) กรีดร้องของผู้คน เป็นเสียงที่ชักชวน นำพาให้หมาพลอย “กลัว” ไปด้วย

เทคนิคจัดการ “สุนัขขี้กลัว” ด้วยผ้า 1 ผืน ช่วยให้รู้สึกปลอดภัย เหมือนมีเจ้าของอยู่ข้างๆ

สุนัขเป็นสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยกับการถูกปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว หากต้องแยกจากเจ้าของก็จะรู้สึกหงุดหงิด มีอาการซึมๆ หรือบางตัวอาจจะร้ายแรงกว่านั้นคือกลายเป็นโรควิตกกังวล หวาดกลัวต่อสิ่งรอบตัวได้ง่าย อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเราไม่สามารถอยู่กับน้องหมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีวิธีที่ช่วยให้สุนัขขี้กลัวรู้สึกปลอดภัยแม้ไม่มีเจ้าของอยู่ข้างกาย เพียงแค่ใช้ผ้า 1 ผืนเพียงเท่านั้น

วิธีใช้ผ้าพันสุนัข

ใช้ผ้าผืนยาวๆ 1 ผืน เริ่มพันที่หน้าอก ไขว้มาด้านหลังตรงท้ายทอย จากนั้นก็อ้อมลงมาใต้ท้อง รวบขึ้นมาและผูกไว้ที่ช่วงเอว ตามรูปภาพด้านล่างนี้ได้เลย และถ้ายิ่งใช้ผ้าพันคอของเจ้าของจะยิ่งดี เพราะสุนัขจะได้กลิ่นของเจ้าของตลอดเวลา ยิ่งทำให้พวกมันรู้สึกปลอดภัยเหมือนมีเจ้าของอยู่ด้วยตลอดเวลา วิธีนี้ยังสามารถใช้ได้กับน้องหมาที่กลัวฟ้าร้องได้อีกด้วย

สุนัขขี้กลัว

สุขภาพทางด้านจิตใจของสุนัขเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย มีความต้องการความรักความอบอุ่น ต้องการที่พึ่งยามที่พวกเขารู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้เลยว่าเวลาที่สุนัขกลัวจะแสดงออกทางร่างกายและพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ เราสามารถฝึกสอนให้เขาได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เขาได้ปรับตัวกับความกลัวเหล่านั้นได้ อย่าลืมว่าสุนัขก็เครียดและมีปัญหาทางจิตใจได้เหมือนกับเรา

 

คำถามที่พบบ่อย (FAQ’s)

ทำไมสุนัขกลัวคนแปลกหน้า ?

  • การที่สุนัขกลัวผู้คนหรือสุนัขตัวอื่น อาจเป็นเพราะไม่ได้รับการฝึกเข้าสังคมอย่างเหมาะสม

สามารถฝึกหมาให้เข้าสังคมตอนโตได้หรือไม่ ?

  • ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเริ่มสอนสนัขให้เข้าสังคม พวกเขาอาจเรียนรู้การเข้าสังคมได้ดีเมื่อยังเป็นลูกสุนัข แต่จะเริ่มฝึกตอนที่พวกเค้าโตแล้วก็ได้เช่นกัน แม้ว่าอาจจะทำได้ยากขึ้นเล็กน้อย และอาจจำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ฝึกสอนมืออาชีพมาช่วยฝึกสอนให้

ที่มา

https://www.talingchanpet.net/

https://www.smilesmine.com/

https://www.komchadluek.net/news/

https://www.pexels.com/th-th/photo/7516466/

https://www.pexels.com/th-th/photo/9294481/

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่  hakkarepublic.com