อวกาศ : มนุษย์จะประสบความสำเร็จในการสำรวจอวกาศยุคใหม่หรือเปล่า

การสำรวจอวกาศในโลกสมัยใหม่เป็นการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แต่เมื่อพิจารณาถึงความยากเย็นและซับซ้อนของเป้าหมายของภารกิจที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องยากที่ชาติมหาอำนาจทั้งสองจะไปสู่เป้าหมายได้ด้วยตัวเอง

องค์การนาซาได้เริ่มโครงการอาร์ทิมิสแล้ว โดยตั้งเป้าว่าในที่สุดจะส่งนักบินอวกาศไปอยู่บนดวงจันทร์เพื่อทำการทดลองต่าง ๆ เป้าหมายคือเพื่อการลงหลักปักฐานสร้างอาณานิคมต่างดาวให้มนุษย์ได้อยู่อาศัยกันในระยะยาว ฐานที่มั่นบนดวงจันทร์นี้จะปูทางไปสู่การนำมนุษย์เหยียบดาวอังคารให้ได้

ด้านจีนเองก็ได้ก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกงสำเร็จแล้ว และก็วางแผนจะสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารหมือนกัน พวกเขาวางแผนจะก่อตั้งสถานีวิจัยแบบไม่มีมนุษย์ควบคุมบนดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2025 และจะส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2030

มนุษย์สามารถไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จแล้ว แต่การไปถึงดาวอังคารซึ่งอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์ถึง 250 เท่า เป็นเรื่องยากกว่ามาก แม้ว่าจะสามารถสร้างจรวดส่งมนุษย์ไปยังดาวที่ชั้นบรรยากาศบางเบามากสำเร็จ ความท้าทายที่รออยู่คือจะพานักบินอวกาศกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร

หากมองย้อนกลับไปในอดีต ชาติมหาอำนาจคอยแข่งขันกันในเรื่องการสำรวจอวกาศมาตลอด อย่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในทศวรรษ 50 และ 60 รัสเซียส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จก่อน ขณะที่ไม่กี่ปีต่อมา สหรัฐฯ ก็สามารถส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ทศวรรษ 70 เป็นยุคทองแห่งความร่วมมือซึ่งนำไปสู่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station – ISS)

ซึ่งปล่อยขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศเมื่อปี 1998 ชาติมหาอำนาจทั้งสองสร้างสถานีดังกล่าวพร้อมกับชาติพันธมิตรอีก 13 ชาติ ISS เป็นสถานีที่ไม่ได้มีชาติใดชาติหนึ่งเป็นเจ้าของ ทุกชาติต้องอาศัยกันและกันในการปฏิบัติการ

โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถบรรลุเป้าหมายอะไรได้บ้างหากร่วมมือร่วมใจกัน แต่โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐฯ ไปห้ามไม่ให้จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติสมาชิกสร้างสถานี ISS ส่งผลให้จีนไปมุ่งสร้างสถานีของตัวเองขึ้นมา

ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้คือ หลังจากรัสเซียบุกยูเครนได้ไม่กี่สัปดาห์ ชาติต่าง ๆ ก็เลิกทำงานร่วมกับรัสเซีย โครงการสำรวจดวงจันทร์ 2 โครงการระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) กับรัสเซีย ถูกยกเลิก เช่นเดียวกับโครงการสำรวจดาวอังคาร

อย่างไรก็ดี เมื่อมองให้ลึกลงไป ประเทศตะวันตกก็ยังทำงานร่วมกับรัสเซียอยู่ในเรื่องโครงการสำรวจอวกาศ นักบินอวกาศอเมริกันและยุโรปยังไปรับการฝึกที่ Star City ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ด้านการสำรวจอวกาศของรัสเซียในกรุงมอสโก

คำถามสำคัญหลังจากนี้คือจะเกิดอะไรขึ้นหลังสถานีอวกาศนานาชาติหมดอายุขัยในปี 2030

จูเลียนา ซูเอสส์ นักวิเคราะห์ด้านนโยบายอวกาศจากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิสในกรุงลอนดอนบอกว่า รัสเซียมีประโยชน์ต่อชาติสมาชิกน้อยกว่าตอนแรกเพราะเทคโนโลยีของพวกเขาล้าสมัยแล้ว เธอบอกว่าเป็นไปได้ที่ชาติแรกที่เดินทางเข้าสู่วงโคจรอวกาศสำเร็จอาจเป็นชาติแรกที่ต้องถอนตัวออกมา

ความถดถอยของโครงการสำรวจอวกาศรัสเซียมาในช่วงที่โครงการสำรวจอวกาศของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนส่งจรวดเข้าสู่อวกาศมากกว่า 200 ลำ แม้ว่างบประมาณด้านอวกาศของสหรัฐฯ จะยังมากกว่าจีนมาก

จีนรู้ดีว่าการร่วมมือกับชาติอื่นจะเปิดช่องให้พวกเขาได้รับความรู้เชิงเทคนิคและก็ได้เงินสนับสนุนด้วย พวกเขาได้ชักชวนให้ชาติอื่น ๆ ที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมกับ ISS มาเข้าร่วมกับตัวเอง และเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน

หากคุณต้องการติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกสามารถติดตามได้ที่ hakkarepublic.com