“กิน เก็บ กู้ กระจายเสี่ยง” วิธีบริหารเงินสไตล์ “ซีอีโอ” ที่ใครๆ ก็ทำได้

วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ “เงินในกระเป๋า” ของใครหลายคนลดลง หรือหายวับไปกับตา เพราะงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่ไปต่อไม่ไหว และล้มครืนอย่างไม่คาดฝัน

เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม การท่องเที่ยวเริ่มฟื้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีกระต่าย หรือปี 2566 จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2565

แต่กลับยังมีปัจจัยเสี่ยงสารพัดที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้ดั่งหวัง โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อไม่จบเสียที ส่งผลให้การ “หาเงิน” เข้ากระเป๋า หรือ “รักษาเงิน” ในกระเป๋า ยังมีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

“ทีมเศรษฐกิจ” มีคำแนะนำดีๆจาก “ซีอีโอ” บริษัทชั้นนำ “เคล็ดลับ” การบริหารเงินในกระเป๋า สำหรับปีกระต่ายนี้ เพื่อทำให้เงินงอกเงย สร้างความมั่นคงในชีวิต และเป็นที่พึ่งในยามวิกฤติได้ ดังนี้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

นักวิเคราะห์หลายสถาบันมองว่า ปี 66 เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้หลายคนอาจกังวล และเกิดคำถามว่า ต้องบริหารเงินอย่างไรจึงจะผ่านไปได้ การบริหารเงินไม่มีวิธีตายตัว แล้วแต่สไตล์ บางคนเน้นปลอดภัย บางคนเน้นรุกไปข้างหน้าแบบ Offensive defend เพราะในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส

ส่วนตัวผมเป็นคนทำธุรกิจ ต้องรักษาสมดุลระหว่างการออมกับการลงทุน เพื่อให้เงินงอกเงย เวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ผมมองว่า ยิ่งลงทุนระยะยาว ยิ่งมีโอกาสงอกเงยเหมือนปลูกต้นไม้ คุณพ่อ (ธนินท์ เจียรวนนท์) เคยบอกว่า หากเราใช้เวลาเล่น เวลามันก็จะผ่านไป แต่หากเราปลูกต้นไม้ ต้นไม้ก็จะโตให้ประโยชน์แก่เรา เหมือนการบริหารเงิน ต้องทำให้มั่นคง งอกเงย

ผมอยากฝากข้อคิดว่า “ความเสี่ยงที่สุดคือการไม่กล้าเสี่ยงเลย” แต่ต้องประเมินผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเสมอ อีกข้อคือ “อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน” เทคนิคง่ายๆคือ กระจายความเสี่ยง ลงทุนให้หลากหลาย ซึ่งนำมา ปรับใช้ได้กับทั้งธุรกิจและการลงทุน และสุดท้ายคือ “นิสัยที่ทำให้เราร่ำรวยกับนิสัยที่จะช่วยให้เรารักษาความร่ำรวยไว้ได้นั้นไม่เหมือนกัน”

ความมั่นคงทางการเงิน เป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ทั้งมิติของการมีบ้าน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อาหาร รวมทั้งมีเงินออมเพื่อความมั่นคง เป็นที่พึ่งยามวิกฤติ การออมสามารถเดินไปพร้อมการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง ไม่ได้หมายถึง การออมแบบกอดเงินไว้สถานเดียว แบบนั้นเศรษฐกิจไม่หมุนเวียน

“บริหารจัดการเงิน เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญต่ออนาคต วันนี้เราเห็นหนี้ครัวเรือนไทยสูงมาก เกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะขาดความรู้ด้านการเงิน ทั้งการออมและการลงทุน ต้องอย่าเป็นหนี้นอกระบบ และต้องทำบัญชีง่ายๆให้เป็น ทุกคนทำได้ หากพยายาม”.

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์

เศรษฐกิจไทยปีกระต่ายฟื้นตัวภายใต้ “ความไม่แน่นอน” และ “ไม่ทั่วถึง” เงินในกระเป๋าจึงมี “ความเสี่ยง” รั่วไหลได้ง่าย แต่ยังมี “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่ เติมเงินใส่กระเป๋าได้ โดยมีโจทย์คือ จะบริหารเงินอย่างไร ให้จัดการความเสี่ยง และฉกฉวยโอกาสจากความไม่แน่นอน และไม่ทั่วถึงได้

“ผมมีหลักบริหารเงินแบบ “กระจายความเสี่ยง–คล่องแคล่ว–คัดสรร” คือ กระจายความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับกลยุทธ์ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนสูงได้อย่างคล่องแคล่ว และคัดสรรจนพบโอกาสลงทุนในเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เติบโตดีกว่าเพื่อน โดยมีเคล็ดลับอยู่ที่การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการ บริหารจัดการการเงินแบบที่ว่า”

สำหรับกระจายความเสี่ยง แนะนำให้กระจายเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์การออม การลงทุน และประกันภัย โดยจัดสรรเงินลงทุนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการออมเฉพาะตัว ซึ่งจะจูงใจให้ลงทุนสม่ำเสมอ และเข้าถึงประกันภัยที่สอดรับกับความเสี่ยงเฉพาะตัวในราคาสมเหตุผล เพราะเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ จะช่วยให้บริษัทประกัน เสนอกรมธรรม์ที่สะท้อนความเสี่ยงได้ดีขึ้น

ส่วนการบริหารแบบคล่องแคล่ว เช่น ในยามวิกฤติ ธุรกิจจะเข้าถึง สภาพคล่อง ณ ต้นทุนที่เหมาะสมได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยผู้ให้กู้สามารถใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการประเมินและให้สินเชื่อได้มากพอและทันเวลา อีกทั้งข้อมูลและเทคโนโลยียังช่วยให้ผู้ลงทุนติดตามภาวะตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด ทำให้ปรับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อรับมือกับความผันผวนได้อย่างยืดหยุ่น

และการบริหารแบบคัดสรร ผมมองว่า ข้อมูลและเทคโนโลยีจะช่วย ให้เราเข้าถึง และคัดสรรโอกาสการลงทุนจากหลายประเทศ หลายกลุ่มอุตสาห กรรม และซื้อขายได้สะดวก รวดเร็ว ทำให้เราฉกฉวยโอกาสลงทุนที่ซ่อนอยู่ในตลาดการเงินที่ผันผวนได้ทันท่วงที

“ปีกระต่าย บริการทางการเงินจากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลจะแพร่หลายขึ้น เคล็ดลับดูแลเงินในกระเป๋าจะอยู่รอบตัวเรา เพียงติดตาม ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์ เราก็จะปกป้องเงินในกระเป๋า จากความไม่แน่นอน และเติมเงินเข้ากระเป๋าโดยอาศัยโอกาสที่ซุกซ่อน อยู่ในความไม่ทั่วถึงได้”.

"กิน เก็บ กู้ กระจายเสี่ยง" วิธีบริหารเงินสไตล์ "ซีอีโอ" ที่ใครๆ ก็ทำได้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)

คำแนะนำการดูแลเงินในกระเป๋าให้อยู่กับเราตลอดทั้งปี เป็นวิธีง่ายๆของลูกจ้างอาชีพ หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างผม คือ “กิน เก็บ กู้” ให้ครบถ้วนและสมดุลตามกำลังความสามารถของเรา ซึ่งผมเชื่อว่าใช้ได้จริง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในตำแหน่งใด เช่น พนักงานทั่วไป ผู้จัดการ จนถึง ซีอีโออย่างผม ก็ใช้หลักเดียวกัน เพียงแต่สัดส่วนอาจแตกต่างกัน

“กิน” คือ เงินสำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ค่า อาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็นสำหรับครอบครัว แต่ก่อนจะใช้ต้องถาม ตัวเองให้ชัดๆ ซ้ำๆ สัก 3 รอบว่า เราจ่ายไปเพื่อความจำเป็นจริงๆ ใช่หรือไม่ ถ้ายังไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องใช้ ทำแบบนี้ จะทำให้เรารู้ว่า ที่จำเป็นจริงๆในชีวิตต้องใช้เงินเท่าใดในแต่ละเดือน ไม่ใช่ต้องประหยัดสุดขีด แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม พอเพียง และไม่สุรุ่ยสุร่าย

 

“เก็บ” คือ ต้องรู้จักออม จากเงินที่เหลือจากการกิน ต้องไม่มีข้ออ้างว่า แค่กินยังไม่พอ เพราะถ้าเป็นแบบนั้น แสดงว่างานที่เราทำ ไม่เหมาะที่จะทำต่อ ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ถ้างานและ เงินดีแล้ว แต่ยังไม่มีเก็บ แสดงว่าเรากินมากไปจนไม่เหลือเก็บ

การออมทำได้หลายอย่าง อย่า!! ฝากธนาคารอย่างเดียว ซื้อกองทุน ซื้อหุ้นปันผลบ้าง ผมมีนิสัยเก็บเงินมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่เคยมีปัญหาการเงินเลยในยามที่ต้องเผชิญภาวะไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

“กู้” คือ เงินที่ต้องหามาใช้ เพื่อซื้อของใหญ่ๆที่จำเป็นในอนาคต เช่น บ้าน รถ หรือแม้แต่การลงทุนด้านการศึกษา การซื้อความสุขให้ตัวเอง รวมถึงการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในชีวิต อยากให้คน ไทยกล้ากู้มาใช้ ถ้าเรายังสามารถผ่อนคืนได้จากที่ได้กินและเก็บแล้ว เพราะจะทำให้เรามีโอกาสเติบโตได้มากกว่าคนอื่น ที่ไม่รู้จักการกู้เลย

ถ้าทุกคนบริหารการเงิน แบบ “กิน เก็บ กู้” ให้ เหมาะสมกับตัวเอง จะมีเงินอยู่ในกระเป๋าไว้ใช้เรื่องจำเป็น ไว้สร้างความสุขในชีวิต ไว้ใช้เป็นหลัก ประกันในอนาคตได้ตลอดปีและตลอดไป.

กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย

มนุษย์เงินเดือนแบบผม คำแนะนำคือ เราควรให้ความสำคัญกับการบริหารเงินเหมือนกับที่เราให้ความสำคัญกับการบริหารงาน ธุรกิจ เวลาทำงาน ทุกคน จะวางแผน จัดสรรงบ แบ่งเป็นค่าใช้จ่าย อะไรบ้าง มีการประเมินความเสี่ยง (Risk Management) ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรา ลงทุน (Business Assessment) ทุกอย่างถูกกลั่นกรองมาอย่างดี นั่นเพราะเป็นหน้าที่ ที่เขาจ้างเรามาทำ หากเราจัดการกับการ เงินของตัวเอง และวางระบบให้เหมือนเรื่องงาน มันน่าจะดี

ขอแชร์วิธีของผม ผมแบ่งเงินเป็นก้อนๆ โดย 40% เป็นค่าใช้จ่าย ในการดำรงชีวิต 20% เก็บไว้เป็นงบฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิด 10% เป็นงบเอนเตอร์เทน สร้างความสุข และอีก 30% เอาไปลงทุนให้เงินงอกเงย จำนวนนี้ 60% เป็นการลงทุนระยะยาว เลือกที่มั่นคง ไม่หวือหวา เช่น กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่วนอีก 40% ลงทุน ระยะสั้น ที่ต้องยอมรับความเสี่ยง ผมลงทั้งหุ้นคริปโตเคอร์เรนซี NFT ที่ตอนนี้ขาดทุน เพราะตลาดผันผวนมาก

“การลงทุนในหุ้นคริปโตที่มีความเสี่ยง หากขาดทุนต้องยอมรับ สภาพ การกระจายความเสี่ยงจึงสำคัญ ตอนนี้ขาดทุนที่สุดคือ หุ้น (หัวเราะ) ส่วนคริปโต โชคดีที่ลงทุนในสกุลเงินที่มีเทคโนโลยีหนุนหลัง อย่างบิทคอยน์ อีเธอเรียม จึงได้รับผลกระทบน้อย ยังดีเพิ่งหันมาซื้องานศิลปะสะสม ส่วนหนึ่งเพราะชอบ อีกส่วนคือ เป็นการลงทุนเพราะ ราคาขึ้นเร็วมาก แต่ข้อแนะนำคือ ต้องสนใจและศึกษาให้ถี่ถ้วน”

อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่วัย 20 ปีต้นๆ ที่อาจมีความเข้าใจด้านการลงทุนที่บิดเบี้ยว การลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 30-40% ขึ้นไปไม่มีจริง มันคือแชร์ลูกโซ่ ซึ่งสุดท้ายคือ การหลอกลวง

“วางแผนการเงิน การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมากของชีวิต แก่เฒ่าไปจะได้ไม่เป็นภาระของใคร ตั้งแต่ครอบครัว ลูกหลาน ประเทศ ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุน้อย ผมยังเสียใจที่ไม่ได้เริ่ม
เร็วกว่านี้”.

ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย

ยอมรับอย่างไม่อายว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่โควิดระบาดหนัก จนธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำแทบไปต่อไม่ได้ บาดเจ็บสาหัสมาก ถือเป็น “บทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต”

เพราะที่ผ่านมา การทำธุรกิจสายการบินเป็นไปด้วยดี เส้นทางบิน ผู้โดยสาร เติบโต อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้นำเงินแทบทั้งหมดที่มีไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสายการบิน ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร โรงแรม พอเกิดวิกฤติ คนเดินทางไม่ได้ ต้องหยุดทำการบิน ธุรกิจที่ทำก็ไปต่อไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด ทำให้พังทั้งระบบ!!!

“ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่สำคัญ เพราะเราไม่มีเงินเก็บมากพอ ทำให้รู้ว่า อย่าริใช้เงินอนาคต และไม่ควรกู้เงินอนาคตมาใช้ การลงทุนก็ไม่ควรนำเงินที่มีอยู่มาลงทุนจนหมดหน้าตัก รวมถึงไม่ควรทำธุรกิจที่เป็นประเภทเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อล้ม จะล้มทั้งหมด ช่วงนั้นมีหนี้ มีทุกข์ ที่สำคัญทำให้เราเสียคำพูด เสียเพื่อน และความน่านับถือ”

จากบทเรียนครั้งสำคัญนี้ ทำให้การใช้ชีวิตส่วนตัว และการบริหารธุรกิจในปีกระต่าย ต้องกลับมาพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้น ต้อง “หยุด” ใช้เงิน และใช้หนี้ที่กู้ยืมมา เมื่อมีรายได้ก็จะเก็บหอมรอมริบ เพื่อให้เกิดความมั่นคง จากเมื่อก่อนมีเงินชอบซื้อรถ นาฬิกา ของแบรนด์เนม

นอกจากนี้ จะเน้นการลงทุนหุ้น ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเป็นหลัก มีปันผล เพราะราคาไม่ปรับเปลี่ยนจนน่าตกใจ จากเมื่อก่อน จะซื้อขายหุ้นทั้งที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และหุ้นที่ผู้ที่มีชื่อเสียงชักชวน ซึ่งหุ้นส่วนนี้ ราคาผันผวนมาก และจะไม่ลงทุนอะไรใหม่ๆ ง่ายๆ ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน

“สำหรับสายการบินแอร์เอเชีย ในปีกระต่าย สถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น เพราะการท่องเที่ยว การเดินทางเริ่มกลับมาแล้ว แม้ต้องใช้เวลาฟื้นฟู เพราะขณะนี้ยังขาดทุนสะสมอยู่ จากนี้ไปจะค่อยๆ บริหารอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงมากที่สุด”.

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : hakkarepublic.com